Corporate Governance

Corporate Governance
นโยบายการกำกับดูแลกิจการ

บริษัทให้ความสำคัญกับการกำกับดูแลกิจการที่ดี (Good Corporate Governance) เพื่อระบบจัดการบริหารที่มีประสิทธิภาพ โปร่งใส ตรวจสอบได้ เสริมสร้างความเชื่อมั่น และความมั่นใจต่อผู้ถือหุ้น ผู้ลงทุน ผู้มีส่วนได้เสีย และผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย บริษัทได้ยึดหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีของบริษัทจดทะเบียน (The Principles of Good Corporate Governance of Listed Companies) ตามที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (“ตลาดหลักทรัพย์”) กำหนด เป็นแนวทางในการปฎิบัติเพื่อให้กิจการมีผลประกอบการที่ดีในระยะยาว น่าเชื่อถือสำหรับผู้ถือหุ้นและผู้คนรอบข้างเพื่อประโยชน์ในการสร้างคุณค่าให้กิจการยั่งยืน ตรงตามความมุ่งหวังของทั้งภาคธุรกิจ ผู้ลงทุน ตลอดจนตลาดทุนและสังคมโดยรวม โดยสาระสำคัญของนโยบายการกำกับดูแลกิจการสามารถแบ่งออกได้เป็น 8 หลักปฏิบัติ ดังนี้

บริษัทได้กำหนดบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบของคณะกรรมการบริษัทไว้อย่างชัดเจนในกฎบัตร โดยคณะกรรมการบริษัทเข้าใจและตระหนักถึงบทบาทความรับผิดชอบ และหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีในฐานะผู้นำซึ่งต้องกำกับดูแลองค์กร หน้าที่สำคัญหลักของคณะกรรมการบริษัทคือ การกำหนดวัตถุประสงค์ เป้าหมาย รวมถึงนโยบายและกลยุทธ์ที่สำคัญในการประกอบธุรกิจ โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดต่อผู้มีส่วนได้เสีย รวมทั้งกำกับดูแลการดำเนินงานของบริษัทให้สามารถแข่งขันและปรับตัวสำหรับรองรับความเปลี่ยนแปลงจากปัจจัยต่าง ๆ เพื่อการเติบโตของการประกอบธุรกิจในระยะยาวอย่างยั่งยืน โดยคำนึงถึงการปฏิบัติต่อสังคมโดยรวมอย่างมีจริยธรรม รวมถึงคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม อีกทั้งมีการติดตาม ประเมินผล และดูแลการรายงานผลการดำเนินงานของบริษัทให้เป็นไปตามเป้าหมายที่คาดไว้ รวมทั้งมีการจัดให้มีการควบคุมภายในที่เพียงพอ มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล

นอกจากนี้ คณะกรรมการบริษัทได้กำหนดนโยบายต่าง ๆ เช่น นโยบายความรับผิดชอบต่อสังคม นโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น รวมถึงหลักจรรยาบรรณในการดำเนินธุรกิจ เพื่อการประกอบธุรกิจอย่างมีจริยธรรมเป็นประโยชน์ต่อสังคม เคารพสิทธิและมีความรับผิดชอบต่อผู้ถือหุ้นและผู้มีส่วนได้เสีย รวมถึงพัฒนาหรือลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ คณะกรรมการบริษัทมีการสื่อสารนโยบายต่าง ๆ ให้แก่ผู้บริหารและพนักงาน เพื่อให้รับทราบ เข้าใจ และนำไปปฏิบัติ และคณะกรรมการบริษัทยังมีหน้าที่ในการทบทวนและแก้ไขนโยบายต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อให้บริษัทสามารถปรับตัวได้ภายใต้ปัจจัยการเปลี่ยนแปลงได้อย่างทันท่วงที

นอกจากนี้ คณะกรรมการบริษัทได้กำหนดหน้าที่และขอบเขตความรับผิดชอบของคณะกรรมการชุดย่อย และประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ (CEO) ไว้อย่างชัดเจน รวมทั้งทำการกำกับดูแลให้กรรมการและผู้บริหารปฏิบัติหน้าที่ตามที่กำหนดด้วยความรับผิดชอบ (Accountability and Responsibility) ระมัดระวัง (Duty of Care) และซื่อสัตย์สุจริต (Duty of Loyalty) พร้อมดูแลการดำเนินงานของบริษัท ให้เป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ข้อบังคับ มติที่ประชุมคณะกรรมการ มติที่ประชุมผู้ถือหุ้น และนโยบายต่าง ๆ ของบริษัท

คณะกรรมการบริษัทให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อการกำหนดหรือดูแลให้บรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมายหลักของกิจการ (Objectives) เพื่อความยั่งยืน โดยวัตถุประสงค์ และเป้าหมายจำเป็นต้องสอดคล้องกับการสร้างคุณค่าให้ทั้งกิจการ ลูกค้า และสังคมโดยรวม รวมไปถึงสื่อสารแก่ทุกคนในบริษัท เพื่อเสริมสร้างให้เกิดความร่วมใจของบุคลากรในทุกระดับในการดำเนินการตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายหลักของบริษัท อีกทั้ง ให้ความสำคัญในการบริหารงานแบบมืออาชีพของบริษัท ทั้งจากทีมงานที่มีคุณภาพและผู้บริหารที่มีประสบการณ์ ความรู้และความสามารถในธุรกิจที่เกี่ยวข้อง และให้ความสำคัญต่อระบบการทำงานภายในของบริษัทให้มีความโปร่งใส และมีการนำแนวคิดใหม่ ๆ ที่จะนำมาใช้ในการพัฒนาองค์กร และผลิตภัณฑ์ของบริษัทอย่างต่อเนื่อง

อีกทั้ง คณะกรรมการบริษัทมีการกำหนดและกำกับดูแลให้มั่นใจว่า วัตถุประสงค์ เป้าหมาย และกลยุทธ์ในระยะปานกลาง และ/หรือประจำปีของบริษัท สอดคล้องกับการบรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมายหลักของบริษัท โดยมีการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้อย่างเหมาะสม ปลอดภัย พร้อมติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงานอย่างสม่ำเสมอ นอกจากนี้ ตระหนักถึงความเสี่ยงของการตั้งเป้าหมายที่อาจนำไปสู่การประพฤติที่ผิดกฎหมาย หรือขาดจริยธรรม (unethical conduct) ตลอดจนกำกับดูแลให้มีการถ่ายทอดวัตถุประสงค์และเป้าหมายผ่านกลยุทธ์และแผนงานให้ทั่วทั้งบริษัท และกำกับดูแลให้มีการจัดสรรทรัพยากรให้เหมาะสม

คณะกรรมการบริษัทตระหนักถึงผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้น นักลงทุน และองค์กรเป็นสำคัญ จึงให้ความสำคัญในการสรรหาและแต่งตั้งกรรมการและกรรมการชุดย่อยที่มีคุณภาพ และสามารถช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับบริษัทได้ในระยะยาว โดยคณะกรรมการบริษัทได้มอบหมายให้คณะกรรมการสรรหาและพิจารณาค่าตอบแทนกำหนดวิธีการสรรหาบุคคลที่เหมาะสมและคุณสมบัติของกรรมการชุดต่าง ๆ ซึ่งเน้นคุณสมบัติที่หลากหลายทั้งในด้านทักษะ ประสบการณ์ และความสามารถที่เป็นประโยชน์ รวมทั้งกำหนดการดำเนินการกระบวนการสรรหาให้มีความโปร่งใส่ และกำหนดค่าตอบแทนของกรรมการให้สอดคล้องกับกลยุทธ์และเป้าหมายระยะยาวของบริษัท ประสบการณ์ ภาระหน้าที่ ขอบเขตของบทบาทและความรับผิดชอบ (accountability and responsibility) เพื่อเสริมสร้างความมั่นใจให้กับผู้ถือหุ้นและบุคคลภายนอก

ในปัจจุบัน บริษัทมีคณะกรรมการบริษัทจำนวน 7 ท่าน ประกอบด้วยกรรมการอิสระจำนวน 4 ท่าน เพื่อทำให้เกิดการถ่วงดุลในการพิจารณาและออกเสียงในเรื่องต่าง ๆ อย่างเหมาะสม โดยกรรมการอิสระของบริษัททุกท่านมีคุณสมบัติตามที่กำหนดไว้ในประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ข้อบังคับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย รวมถึงหลักเกณฑ์ ข้อกำหนด และกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ คณะกรรมการบริษัททุกท่านทราบถึงความรับผิดชอบในการปฏิบัติหน้าที่ และมีการจัดสรรเวลาอย่างเพียงพอในการปฏิบัติตามบทบาทหน้าที่ที่ได้รับ อีกทั้งมีการรายงานผลการปฏิบัติงานและเข้าร่วมประชุมตามที่กำหนด และมีการประเมินผลการปฏิบัติงานเป็นประจำทุกปี โดยเป็นการเปรียบเทียบผลการปฏิบัติงานของคณะกรรมการให้เป็นไปตามข้อกำหนดในกฎบัตร ซึ่งคณะกรรมการบริษัทจะนำผลที่ได้รับจากการประเมินผลดังกล่าวมาพิจารณาปรับปรุงการปฏิบัติงานของตนต่อไป

นอกจากนี้ คณะกรรมการบริษัทได้แต่งตั้งคณะกรรมการชุดย่อย และคณะทำงาน เพื่อทำหน้าที่สนับสนุนการปฏิบัติงานของคณะกรรมการบริษัทและการดำเนินงานของบริษัท อันได้แก่ คณะกรรมการบริหาร คณะกรรมการตรวจสอบ คณะกรรมการสรรหาและพิจารณาค่าตอบแทน คณะกรรมการกำกับดูแลกิจการและความรับผิดชอบต่อสังคม คณะทำงานบริหารความเสี่ยง และคณะทำงานกำกับดูแลธุรกิจสื่อออนไลน์ รวมทั้งได้กำหนดกฎบัตรของคณะกรรมการชุดย่อยและคณะทำงานแต่ละคณะเพื่อให้ทราบถึงอำนาจหน้าที่ และความรับผิดชอบของคณะกรรมการชุดย่อยและคณะทำงานไว้อย่างชัดเจน อีกทั้งได้กำหนดให้มีการทบทวนกฎบัตรดังกล่าวอย่างสม่ำเสมอให้สอดคล้องกับสภาวการณ์

คณะกรรมการบริษัทจะดำเนินการเพื่อให้มั่นใจได้ว่า บริษัทมีการสรรหากรรมการและผู้บริหารระดับสูงที่เหมาะสมและเพียงพอต่อการดำเนินงาน และปฏิบัติตามแผนธุรกิจและแนวทางการเตรียมพัฒนาผู้สืบทอดตำแหน่ง (Succession Plan) ตามที่ระบุในกฎบัตรและจรรยาบรรณ (Code of Conduct) ของบริษัท เพื่อขับเคลื่อนองค์กรไปสู่เป้าหมาย อีกทั้งคณะกรรมการบริษัทมีการกำกับดูแลให้มีการกำหนดโครงสร้างค่าตอบแทนและการประเมินผลที่เหมาะสม โดยดำเนินการร่วมกับ คณะกรรมการสรรหาและพิจารณาค่าตอบแทน ซึ่งจะทำการพิจารณาหลักเกณฑ์การจ่ายค่าตอบแทนให้เหมาะสมเมื่อเทียบกับบริษัทอื่นที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกัน เพื่อให้มีความเป็นธรรม นอกจากนี้ คณะกรรมการบริษัทยังดำเนินการในการติดตามดูแลและพัฒนาบุคลากรอย่างสม่ำเสมอโดยการมีการอบรมความรู้ ทักษะ รวมทั้งส่งเสริมการทำงานเป็นทีม เพื่อเพิ่มขีดความความสามารถ ประสบการณ์ของพนักงานของบริษัท

นอกจากนี้ คณะกรรมการบริษัทยังให้ความสำคัญกับการทำความเข้าใจโครงสร้างและความสัมพันธ์ของผู้ถือหุ้นที่อาจมีผลกระทบต่อการบริหารงานของกิจการและอำนาจในการควบคุมการบริหารจัดการบริษัท เพื่อมิให้เป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการบริษัท และจะดูแลให้มีการเปิดเผยข้อมูลที่อาจมีผลกระทบต่อการควบคุมกิจการอย่างเหมาะสม

คณะกรรมการบริษัทมีการติดตามดูแลให้ฝ่ายจัดการประกอบธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม และสะท้อนอยู่ในแผนดำเนินการ (Operational Plan) เพื่อให้มั่นใจได้ว่า ทุกฝ่ายขององค์กรได้ดำเนินการสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ เป้าหมายหลัก และแผนกลยุทธ์ (Strategies) ของกิจการ

นอกจากนี้ คณะกรรมการบริษัทยังให้ความสำคัญและสนับสนุนการสร้างนวัตกรรมที่ก่อให้เกิดมูลค่าแก่บริษัทควบคู่ไปกับการสร้างคุณประโยชน์ต่อลูกค้า หรือผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะส่งเสริมการดำเนินการ เพื่อเพิ่มคุณค่าให้บริษัทตามสภาพปัจจัยแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ซึ่งอาจครอบคลุมการกำหนดรูปแบบธุรกิจ (Business Model) วิธีคิดมุมมองในการออกแบบและพัฒนาสินค้าและบริการ การวิเคราะห์ การปรับปรุงกระบวนการผลิตและกระบวนการทำงาน รวมทั้งการร่วมมือกับคู่ค้า

อีกทั้ง คณะกรรมการบริษัทยังควบคุมให้มีการปฏิบัติต่อพนักงานที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจโดยถือปฏิบัติตามจริยธรรมธุรกิจ ซึ่งบริษัทตระหนักว่าพนักงานถือเป็นทรัพยากรอันมีค่าสูงสุด บริษัทจึงให้ความสำคัญกับการปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยแรงงานและสวัสดิการสังคม และยังมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมให้พนักงานทุกคนมีสำนึกในหน้าที่และความรับผิดชอบ มีความภาคภูมิใจและเชื่อมั่นในองค์กร รวมทั้งมุ่งเน้นการทำงานเป็นทีม นอกจากนี้ คณะกรรมการบริษัทและบริษัท ยังส่งเสริมให้พนักงานเข้ารับการอบรมในหัวข้อที่เกี่ยวข้องและเป็นประโยชน์ต่อการทำงาน ทั้งนี้ การพิจารณาค่าตอบแทนของพนักงานจะประเมินจากผลการปฏิบัติงานอย่างเป็นธรรม และสอดคล้องกับผลการดำเนินงานของบริษัท ทั้งระยะสั้นและระยะยาว อีกทั้งยังเทียบเคียงได้กับอุตสาหกรรมเดียวกัน และยังมีการส่งเสริมและพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ความสามารถอย่างต่อเนื่อง และคำนึงถึงสิทธิของพนักงานเป็นสำคัญ โดยเปิดโอกาสให้พนักงานสามารถร้องเรียนในกรณีพนักงานไม่ได้รับความเป็นธรรมผ่านช่องทางต่าง ๆ เช่น ผ่านหน่วยงานฝ่ายทรัพยากรบุคคลที่รับเรื่อง เป็นต้น

นอกจากนี้ คณะกรรมการบริษัทมีการกำกับดูแลให้มีกลไกที่ทำให้มั่นใจว่า บริษัทประกอบธุรกิจอย่างมีจริยธรรม มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ไม่ละเมิดสิทธิของผู้มีส่วนได้เสีย เพื่อเป็นแนวทางให้ทุกส่วนในองค์กรสามารถบรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมายหลักด้วยความยั่งยืน ซึ่งในการจัดทำนโยบายหรือแนวปฏิบัติคณะกรรมการบริษัทจะจัดครอบคลุมทั้งความรับผิดชอบต่อลูกค้า คู่ค้า ชุมชนโดยเฉพาะชุมชนโดยรอบบริษัท คู่แข่งซึ่งบริษัทจะดำเนินการธุรกิจอย่างเปิดเผยโปร่งใสและไม่สร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันอย่างไม่เป็นธรรม รวมถึงการต่อต้านการทุจริตและคอร์รัปชัน

คณะกรรมการบริษัทจะทำการกำกับดูแลให้มั่นใจว่าบริษัทมีระบบการบริหารความเสี่ยงและการควบคุมภายในที่จะทำให้บรรลุวัตถุประสงค์อย่างมีประสิทธิผล และมีการปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมายและมาตรฐานที่เกี่ยวข้อง อีกทั้ง คณะกรรมการได้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบซึ่งเป็นกรรมการอิสระ และไม่มีลักษณะต้องห้ามตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพและอิสระ โดยทำหน้าที่ต่าง ๆ ตามที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการบริษัท รวมถึงหน้าที่ในการสอบทานรายงานทางการเงิน ระบบการควบคุมภายใน การปฏิบัติตามกฎหมาย การพิจารณาคัดเลือกผู้สอบบัญชี การเปิดเผยข้อมูลของบริษัทและการจัดทำรายงานของคณะกรรมการตรวจสอบ เป็นต้น

ทั้งนี้ เพื่อให้มั่นใจว่าคณะกรรมการบริษัทสามารถกำกับดูแลระบบบริหารความเสี่ยงและการควบคุมภายในได้อย่างมีประสิทธิภาพ คณะกรรมการได้กำหนดนโยบายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อช่วยจัดการการกำกับดูแล อาทิเช่นจริยธรรมธุรกิจและข้อพึงปฏิบัติในการทำงาน นโยบายการบริหารความเสี่ยง นโยบายการทำรายการระหว่างกันนโยบายการใช้ข้อมูลภายในของบริษัท นโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น นโยบายการแจ้งเบาะแสหรือข้อร้องเรียนการกระทำผิดหรือการทุจริต นโยบายความรับผิดชอบต่อสังคม เป็นต้น

นอกจากนี้ คณะกรรมการบริษัทยังกำหนดให้มีนโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นที่ชัดเจน โดยสื่อสารไปยังบุคลากรในทุกระดับ เพื่อให้เกิดการนำไปปฏิบัติได้จริง และคณะกรรมการบริษัทยังจัดให้มีโครงการหรือแนวทางต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น รวมถึงสนับสนุนกิจกรรมที่ส่งเสริมและปลูกฝังให้พนักงานทุกคนปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งได้จัดให้การรับเรื่องร้องเรียนและการดำเนินการกรณีที่มีการชี้เบาะแส และกำหนดแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนไว้ในนโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น โดยจัดช่องทางการสื่อสารที่หลากหลาย เพื่อเปิดโอกาสให้พนักงานและผู้มีส่วนได้เสียสามารถแจ้งเบาะแส หรือข้อร้องเรียนมายังบริษัทได้อย่างสะดวกและเหมาะสม และบริษัทมีการกำหนดมาตรการคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแสหรือผู้ร้องเรียน พยาน และบุคคลที่ให้ข้อมูลในการสืบสวนหาข้อเท็จจริงไม่ให้ได้รับความเดือดร้อนอันตรายใด ๆ หรือความไม่ชอบธรรม อันเกิดมาจากการแจ้งเบาะแส การร้องเรียน การเป็นพยาน หรือการให้ข้อมูลแก่บริษัท

คณะกรรมการบริษัทรับผิดชอบดูแลให้ระบบการจัดทำรายงานทางการเงินและการเปิดเผยข้อมูลสำคัญถูกต้อง เพียงพอ ทันเวลา เป็นไปตามกฎเกณฑ์ มาตรฐาน และแนวปฏิบัติที่เกี่ยวข้อง โดยดูแลให้มีบุคลากรที่มีคุณภาพเหมาะสมกับงานจัดทำรายงานทางเงินและการเป็นเผยข้อมูลของบริษัท รวมถึงติดตามดูแลความเพียงพอของสภาพคล่องทางการเงินและความสามารถในการชำระหนี้ รวมถึงแผนการแก้ไขในกรณีหากประสบปัญหาทางการเงินโดยคำนึงถึงสิทธิของผู้มีส่วนได้เสีย

ในการนี้ ได้มีการมอบหมายให้นักลงทุนสัมพันธ์ (Investor Relations) ทำหน้าที่สื่อสารและประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ถือหุ้น นักลงทุน นักวิเคราะห์ และผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างเหมาะสม เท่าเทียมกัน และทันเวลา พร้อมทั้งช่วยดูแลการเผยแพร่ข้อมูลของบริษัทตามเกณฑ์ที่กำหนดต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในแบบแสดงรายการข้อมูลรายการประจำปี และรายงานประจำปี และ/หรือ เว็บไซต์ของบริษัท เป็นต้น ตลอดจนข้อมูลที่สำคัญที่มีผลกระทบต่อราคาหลักทรัพย์ของบริษัทซึ่งมีผลกระทบต่อกระบวนการตัดสินใจของผู้ลงทุนและผู้มีส่วนได้เสียของบริษัทอย่างถูกต้อง ไม่ทำให้สำคัญผิด และเพียงพอต่อการตัดสินใจของนักลงทุน

คณะกรรมการบริษัทและบริษัท ให้ความสำคัญกับผู้ถือหุ้นโดยบริษัทมุ่งมั่นดำเนินการให้เกิดความมั่นใจได้ว่าผู้ถือหุ้นได้รับการปฏิบัติที่เท่าเทียมกัน และผู้ถือหุ้นสามารถใช้สิทธิพื้นฐานในฐานะผู้ถือหุ้นได้อย่างครบถ้วน เช่น สิทธิในการซื้อขายหรือโอนหุ้น สิทธิในการมีส่วนแบ่งกำไรของบริษัท สิทธิในการได้รับข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องอย่างเพียงพอผ่านทางเว็บไซต์ของบริษัทหรือเว็บไซต์ของตลาดหลักทรัพย์ฯ หรือโดยวิธีการอื่นใด และสิทธิในการเข้าร่วมประชุมเพื่อใช้สิทธิออกเสียงอย่างเป็นอิสระในการแต่งตั้งหรือถอดถอนกรรมการ การพิจารณาค่าตอบแทนของกรรมการ การแต่งตั้งผู้สอบบัญชี การจ่ายเงินปันผล การเพิ่มทุนและออกหุ้นใหม่ รวมทั้ง สิทธิในการตั้งคำถามต่อคณะกรรมการบริษัทเกี่ยวกับรายงานของคณะกรรมการบริษัทและเรื่องอื่นใดที่นำเสนอต่อที่ประชุม เพื่อพิจารณาและอนุมัติสิทธิในการเสนอวาระการประชุมล่วงหน้าและการเสนอชื่อบุคคลในการเข้ารับการเลือกตั้งเป็นกรรมการบริษัท และการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจในเรื่องสำคัญของบริษัท โดยกำหนดให้ผู้ถือหุ้นทุกรายมีสิทธิออกเสียงตามจำนวนหุ้นที่ถืออยู่และแต่ละหุ้นมีสิทธิออกเสียงหนึ่งเสียง

นอกจากนี้ คณะกรรมการบริษัทยังตระหนักและให้ความสำคัญถึงสิทธิของผู้ถือหุ้น ไม่กระทำการใด ๆ อันเป็นการละเมิดหรือลิดรอนสิทธิของผู้ถือหุ้น โดยจะให้มั่นใจว่าผู้ถือหุ้นมีส่วนร่วมในการตัดสินใจในเรื่องสำคัญของบริษัทจะดูแลให้การดำเนินการในวันประชุมผู้ถือหุ้นเป็นไปด้วยความเรียบร้อย โปร่งใส มีประสิทธิภาพ และเอื้อให้ผู้ถือหุ้นสามารถใช้สิทธิของตน จะดูแลให้การเปิดเผยมติที่ประชุมผู้ถือหุ้นและการจัดทำรายงานการประชุมผู้ถือหุ้นเป็นไปอย่างถูกต้องและครบถ้วน



สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติ่มจากเอกสาร

รายการ ขนาดไฟล์ ชนิดไฟล์ ดาวน์โหลด
นโยบายการกำกับดูแลกิจการ 373 KB PDF